วันพฤหัสบดีที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2555

การท่าเรือฯทุ่มงบกว่า 300 ล้านบาท ปรับโฉมเป็นท่าเรืออิเล็กทรอนิกส์ให้บริการแบบวันสต็อปเซอร์วิสเต็มรูปแบบทั้ง 5 ท่าเรือหลัก คาดเปิดใช้บริการในปี 56 ทันรับ AEC

การท่าเรือฯทุ่มงบกว่า 300 ล้านบาท ปรับโฉมเป็นท่าเรืออิเล็กทรอนิกส์ให้บริการแบบวันสต็อปเซอร์วิสเต็มรูปแบบทั้ง 5 ท่าเรือหลัก คาดเปิดใช้บริการในปี 56 ทันรับเออีซี




     
     ด้านคมนาคมขันนอต 3 หน่วยงานพื้นที่ภาคเหนือปรับปรุงศักยภาพท่าเรือริมโขง ส่วนทช.เดินหน้าถนนเชื่อมโยงท่าเรือและสะพานข้ามแม่น้ำโขง

นายวิโรจน์ จงชาณสิทโธ  ผู้อำนวยการ การท่าเรือแห่งประเทศไทย(กทท.) เปิดเผย"ฐานเศรษฐกิจ"ว่า เพื่อเตรียมความพร้อมรับการเปิดประชาคมอาเซียนทางกทท.ได้เตรียมการวางแผนปรับท่าเรือหลักให้เป็นท่าเรืออิเล็กทรอนิกส์(E-Port)เต็มรูปแบบ ซึ่งจะมีการนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ (ไอที) มาพัฒนาการบริหารจัดการของท่าเรือที่อยู่ในความดูแล ซึ่งจะทำให้ผู้ใช้ได้รับความสะดวกรวดเร็วมากขึ้น ภายใต้การบริการแบบวันสต็อป เซอร์วิส  ครอบคลุมโครงข่ายทั้ง 5 ท่าเรือ ซึ่งมีท่าเรือกรุงเทพ ท่าเรือแหลมฉบัง ท่าเรือระนอง ท่าเรือพาณิชย์เชียงแสน และท่าเรือเชียงของ

โดยโครงการนี้ใช้งบประมาณทั้งสิ้น 371 ล้านบาท คาดว่าจะเปิดให้บริการในปี 2556ซึ่งจะช่วยลดขั้นตอนดำเนินการ ลดระยะเวลา ลดความผิดพลาดจากการป้อนข้อมูล และสามารถตรวจสอบได้ ประการสำคัญลูกค้าที่ใช้บริการสามารถเลือกดำเนินการได้ทุกที่ทุกเวลาผ่านเว็บไซต์ของ กทท.ด้วยผู้ใช้บริการเอง นอกจากนั้นยังเตรียมเชื่อมโยงกับระบบอื่นๆในระยะต่อไปอีกด้วย

ด้านแหล่งข่าวระดับสูงกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆนี้พล.ต.ท.ชัจจ์ กุลดิลก รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมได้เดินทางตรวจสอบความคืบหน้าการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ 4 (เชียงของ) และการให้บริการท่าเรือพาณิชย์เชียงแสน ตลอดจนการก่อสร้างถนนในโครงการของกรมทางหลวงชนบท(ทช.) พร้อมกับเร่งรัดให้ 3 หน่วยงานคือกรมทางหลวงชนบท กรมเจ้าท่า และการท่าเรือแห่งประเทศไทย(กทท.)ที่ทำหน้าที่บริหารท่าเรือพาณิชย์เชียงแสนดำเนินการด้านความพร้อมของข้อมูล เอกสาร แนวทางการดำเนินงานเพื่อรองรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือเออีซี ในปี2558 โดยท่าเรือต้องพร้อมให้บริการอย่างเต็มที่ เช่นเดียวกับถนนที่จะเชื่อมโยงไปสู่ประตูการค้าชายแดนจุดต่างๆก็ต้องเร่งดำเนินการหรือเสนองบประมาณในปีต่อไป ส่วนกรมเจ้าท่าต้องเร่งเคลียร์ปัญหาท่าเรือให้อำนวยความสะดวกในทุกจุดให้ได้มากที่สุด

ด้านนายทรงกลด ดวงหาคลัง ผู้อำนวยการสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคที่ 1 สาขาเชียงราย กล่าวว่าจากการสอบถามหลายฝ่ายขณะนี้พบว่าแนวโน้มการให้บริการท่าเรือด้านนำเข้า-ส่งออกในจุดท่าเรือพื้นที่เชียงแสนดีขึ้นและเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด ซึ่งล่าสุดข้อมูลจากกรมศุลกากรเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมายังพบอีกว่ามูลค่าสินค้านำเข้าสูงถึง 500 ล้านบาท โดยสินค้าส่งออกมูลค่าพุ่งสูงถึง 1.3 หมื่นล้านบาท สูงกว่าปีที่ผ่านมา โดยส่งออกเพียง 8,992 ล้านบาท แต่ที่น่าสนใจปรากฏว่าการนำเข้าลดลงไปบ้างจากเดิมปี 2554 ที่มีมูลค่า1.100 ล้านบาท


ทั้งนี้แสดงให้เห็นว่าแนวโน้มการขนส่งสินค้าเชื่อมโยงทางจีนตอนใต้ดีขึ้น เพราะมีการใช้เรือเพิ่มมากขึ้น ล่าสุดจุดท่าเรือเพื่อการท่องเที่ยวที่ท่าเชียงแสน 1 ผู้ประกอบการเดินเรือได้มีการต่อเรือเพิ่มให้รองรับผู้โดยสาร 300 คนต่อเที่ยวอีก 1 ลำเพื่อให้บริการเดินทางท่องเที่ยวไปยังหลวงพระบางโดยเดินทางจากเชียงแสน และเชื่อมั่นว่าแม้จะเปิดใช้สะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ 4 ก็จะไม่กระทบต่อปริมาณการเดินเรือในท่าริมแม่น้ำโขงมากนักเพราะสินค้ากลุ่มเป้าหมายแตกต่างกัน การเดินทางโดยทางรถยนต์อาจจะไม่คุ้มค่า จึงยังจะใช้บริการขนส่งสินค้าทางเรือไปตามปกติ และยังหวังว่าจะมีผู้ประกอบการรายใหม่ของจีนเข้ามาให้บริการเพิ่มมากขึ้นทุกปีเนื่องจากได้มีการหารือกับจีนในการควบคุมปริมาณน้ำในช่วงฤดูฝนและฤดูแล้งเอาไว้แล้วเพื่อไม่ให้กระทบต่อการเดินเรือ


   ทั้งนี้ปัจจุบันท่าเรือพาณิชย์เชียงแสนมีข้อได้เปรียบทางกายภาพ โดยมีพื้นที่ถึง 387 ไร่ มีเครื่องมือทุ่นแรงที่ทันสมัย สามารถอำนวยความสะดวกในการขนถ่ายสินค้า ลดการใช้แรงงานคนในการขนถ่าย ประกอบกับท่าเทียบเรือเป็นแบบทางลาด 2 ระดับ จำนวน 2 ท่า สามารถนำรถบรรทุกขนาดใหญ่ลงไปรอรับสินค้าได้อย่างสะดวกสบาย และในอนาคตจะพัฒนาเป็นศูนย์กลางการขนถ่ายและเชื่อมโยงการขนถ่ายระหว่างประเทศในกลุ่ม GMS (The Greater Mekong Sub-region) ประกอบด้วย สปป.ลาว พม่า ไทย และจีนตอนใต้ ต่อไป

                                                                                    ที่มา : http://www.marinerthai.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น